ในหลวง พระราชินี ประทับเรือพระที่นั่งเสด็จฯ เปิดสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ ‘เปรมประชาวนารักษ์’

เมื่อเวลา น. วันที่ 10 ธันวาคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ โดยรถยนต์พระที่นั่ง จากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปทรงเปิดสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ “เปรมประชาวนารักษ์” เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ณ พื้นที่ถนนกำแพงเพชร 6 แนวขนานคลองเปรมประชากร เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร

เมื่อเสด็จฯ ถึง บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) เขตบางซื่อ นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร และพนักงานบริษัท เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปยังท่าเทียบเรือ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อประทับเรือพระที่นั่ง เสด็จฯ เลียบตามแนวคลองเปรมประชากร ไปยังท่าเทียบเรือ สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ “เปรมประชาวนารักษ์” พื้นที่ถนนกำแพงเพชร 6 แนวขนานคลองเปรมประชากร เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร

คลองเปรมประชากร เป็นลำคลองที่มีความสำคัญแห่งหนึ่งของประวัติศาสตร์ชาติไทย ด้วยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุดขึ้น ตั้งแต่บริเวณหน้าวัดโสมนัสวิหาร ไปถึงอำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ความยาวกว่า 50 กิโลเมตร เมื่อกาลเวลาผ่านไป ได้เกิดความเสื่อมสภาพของลำคลอง มีขยะมูลฝอย ผักตบชวา วัชพืชในแหล่งน้ำ กีดขวางทางระบายน้ำ กับทั้งการรุกล้ำลำคลอง เนื่องจากการขยายตัวของชุมชน นำไปสู่ปัญหาน้ำเน่าเสีย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงพระราชทานพระบรมราโชบายในการพัฒนาคลองเปรมประชากร ให้กลับคืนสู่ความสะอาด และเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำให้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พัฒนา ปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่โดยรอบคลองเปรมประชากร เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรที่อยู่อาศัยสองฝั่งคลองให้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย ดังเช่น ชุมชนประชาร่วมใจ 1 และชุมชนประชาร่วมใจ 2 ชุมชนที่ตั้งฝั่งตรงข้ามกับวัดเสมียนนารี เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร

ครั้นเสด็จฯ ถึง ท่าเทียบเรือ สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ “เปรมประชาวนารักษ์” นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ประธานกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท รับเสด็จ เสร็จแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ เข้าห้องรับรอง ทรงลงพระปรมาภิไธย และพระนามาภิไธย ในสมุดที่ระลึก

จากนั้น เสด็จเข้าพลับพลาพิธี ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระรัตนตรัย ทรงกราบ ทรงศีล ประธานสงฆ์ถวายศีล จบ นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตรแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นางพงษ์สวาท นีละโยธิน ประธานกรรมการบริหารความเสี่ยงองค์กร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตร แด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ประธานกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กราบบังคมทูลรายงานความเป็นมาโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์บนพื้นที่ถนนกำแพงเพชร 6 แนวขนานคลองเปรมประชากร
ต่อจากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไปยังแท่นพิธี ทรงกดปุ่มเปิดแพรคลุมป้ายสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ “เปรมประชาวนารักษ์” พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา เจ้าพนักงานลั่นฆ้องชัย ประโคม สังข์ แตร ดุริยางค์ ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระสงฆ์ ทรงหลั่งทักษิโณทก พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก เสร็จแล้ว ประธานกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ทูลเกล้าฯ ถวายเงิน แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ทูลเกล้าฯ ถวายเงิน แด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี โดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย

เปรมประชาวนารักษ์
เปรมประชาวนารักษ์

ต่อจากนั้น ประธานกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กราบบังคมทูลเบิกผู้ปฏิบัติหน้าที่สนับสนุนในโครงการพระราชดำริตามพระบรมราโชบาย เฝ้าฯ รับพระราชทานโล่ที่ระลึก เสร็จแล้ว ทรงกราบที่หน้าเครื่องนมัสการ ทรงลาพระสงฆ์ ต่อจากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไปทรงปลูกต้นประดู่ป่า ซึ่งเป็นต้นที่เพาะเมล็ดจากต้นประดู่ป่าที่ทรงปลูกต้นที่ 100 ล้าน เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2540 ในโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ 1 ล้านไร่ ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงปลูกต้นพิกุล เสร็จแล้ว เสด็จพระราชดำเนินไปยังอาคารนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ “ชลวิถีธีรพัฒน์” ซึ่งหมายถึงการพัฒนาสายน้ำของผู้เป็นปราชญ์แห่งแผ่นดิน ทอดพระเนตรนิทรรศการต่าง ๆ ประกอบด้วย ห้องที่ 1 “ชลวัฏวิถี” นิทรรศการวัฏจักรของสายน้ำที่มีผลต่อมวลมนุษยชาติ บอกเล่าความสำคัญของสายน้ำนำมาสู่การแก้ไขและบรรเทาปัญหาน้ำอย่างยั่งยืน ห้องที่ 2 “ชลธีร์ราชทรรศน์” นิทรรศการ สืบสาน – รักษา – ต่อยอด มุมมองที่กว้างไกลในการพัฒนาแหล่งน้ำของพระราชา ห้องที่ 3 “ชลวิวัฒน์เพื่อประชา” นิทรรศการการพัฒนาสายน้ำเพื่อปวงประชาชน แสดงถึงผลสำเร็จของโครงการตามพระบรมราโชบาย ที่พระราชทานพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับสายน้ำและการขาดแคลนน้ำ เพื่อความยั่งยืนและความผาสุกของประชาชน ต่อจากนั้น ทอดพระเนตรนิทรรศการกลางแจ้ง “สายธารพระบารมีจักรีวงศ์” เสร็จแล้ว เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการแสดงละครเพลง เรื่อง “สายนทีแห่งราชัน เดอะ มิวสิคัล” สมควรแก่เวลา จึงประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จฯ กลับ

สวนสาธารณะ “เปรมประชาวนารักษ์” สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยความร่วมมือระหว่างบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หน่วยราชการในพระองค์ หน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน และประชาชนในพื้นที่ ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงตั้งพระราชหฤทัยที่จะดำเนินโครงการพระราชดำริตามพระบรมราโชบายด้านการพัฒนาสายน้ำ คูคลอง สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตของประชาชน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้หน่วยงานต่างๆ ร่วมกันพัฒนาคลองเปรมประชากร และดำเนินโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์บนพื้นที่ถนนกำแพงเพชร 6 แนวขนานคลองเปรมประชากร จำนวน 10 ไร่ ซึ่งแต่เดิมเป็นพื้นที่รกร้างว่างเปล่า จัดสร้างเป็นสวนสาธารณะ พร้อมลานกิจกรรม เส้นทางจักรยาน ท่าเรือ และพื้นที่สาธารณประโยชน์ของชุมชน

ในโอกาสนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อสวนแห่งนี้ว่า “เปรมประชาวนารักษ์” หมายถึง สวนที่นำความสุขและความเบิกบานใจมาสู่ประชาชน โดยได้รับการดูแลรักษาด้วยความรัก และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เชิญตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ไปประดิษฐานที่ป้ายชื่อสวนสาธารณะ ซึ่งภายในสวนสาธารณะ “เปรมประชาวนารักษ์” ประกอบด้วย พื้นที่สวนสาธารณะ อาคารนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ “ชลวิถีธีรพัฒน์” นิทรรศการกลางแจ้ง “สายธารพระบารมีจักรีวงศ์” และท่าเรือ เพื่อเป็นจุดเชื่อมทางสัญจร โดยมีต้นไทรขนาดใหญ่อยู่กลางพื้นที่สวน ประกอบกับแนวคิดการออกแบบสัญลักษณ์เลข 10 ไทย ในรูปทรงหยดน้ำแห่งพระมหากรุณาธิคุณ นอกจากนี้ ในสวนยังมีพรรณไม้ดั้งเดิมของกรุงเทพมหานคร พรรณไม้พื้นถิ่น และต้นไม้นานาพันธุ์ปลูกเสริมสภาพสิ่งแวดล้อมของสวนสาธารณะให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น